เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้คำว่า “ดราม่า” เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมและผู้คนปัจจุบัน…ไม่เว้นแม้แต่วงการเกม โดยในรอบนี้ทีมงานจะขอเล่าถึงดราม่าตีกันเล่นๆ ระหว่างเหล่าผู้รู้จำเป็นและนักเลงคีย์บอร์ดทั้งหลายแทน ซึ่งก็แน่นอนเลยว่าคอเกมทั้งหลายต้องเคยพบเจอมาไม่มากก็น้อยแล้วแน่นอน
ว่าแล้วก็หยิบกล่องป็อบคอร์นกล่องใหม่มาตั้งไว้ข้างๆ แล้วเลื่อนเม้าส์อ่านต่อกันเลยดีกว่า และประเด็นที่เราจะนำเสนอวันนี้ก็คือ… ”Fallacy” หรือการใช้เหตุผลวิบัติในวงการเกมนั่นเองค่ะ
อะไรคือ Fallacy ล่ะเนี่ย?
คำว่า Fallacy นั้นมีคำเรียกหลากหลายคำมากในภาษาไทย ถ้าหากแบบที่หรูหน่อยก็อาจจะเรียกว่า ปฤจฉวาที หรือ ทุตรรกบท แต่ถ้าอ่านแบบระดับสามัญชน มันก็คือ เหตุผลวิบัติ อย่างที่ได้กล่าวไป
Fallacy เป็นวิชาแขนงหนึ่งในหลักตรรกศาสตร์ อธิบายแบบสรุปความง่ายๆ ก็คือ เป็นการเลือกใช้เหตุผลที่ไร้น้ำหนัก แต่ฟังดูดีมีระดับมาสนับสนุนอุดมการณ์ของตน พูดหลอกล่อให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านหลงเชื่อและยอมรับข้อสรุปนั้นๆ แม้เหตุผลที่ถูกยกมาจะเป็นเหตุผลที่ถ้าหากวิเคราะห์ดีๆ แล้ว จะดูไร้สาระและแถสีข้างถลอกสุดตัวก็ตาม
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆ ท่านน่าจะเริ่มนึกออกกันแล้วว่า ตกลงไอ้เจ้าตรรกะวิบัติที่ว่ามานี่ มันจะปรากฏโฉมออกมายังไง บางคนอาจจะเคยผ่านหูผ่านตากันมาแล้วในโลกโซเชียลหรือในเว็บบอร์ดเกมต่างๆ เคยพบเจอมากับตัวเอง หรือแม้กระทั่งเคยใช้เองมาแล้ว ซึ่งก็ขอดักไว้ตรงนี้ก่อนว่า คนที่จะใช้ตรรกะวิบัติได้นั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นเกรียนหรือนักเลงคีย์บอร์ดเสมอไป เพราะแม้แต่ผู้เขียนเองก็อาจจะเคยเผลอใช้ตรรกะวิบัตินี้ไปโดยไม่รู้ตัวได้เหมือนกันค่ะ
แล้วตกลงมันเกี่ยวอะไรกับวงการเกมล่ะ?
ในเมื่อดราม่าในวงการเกมนั้นมีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน ทั้งเรื่องเกมผีซีดีเถื่อนไปจนกระทั่งเล่นเกมแล้วคอมพัง ตรรกะวิบัติเองก็ย่อมแบ่งได้เป็นหลายรูปแบบเช่นกัน และที่สำคัญ ตรรกะวิบัติแต่ละแบบยังมีชื่อเฉพาะเป็นของตัวเองอีกด้วย ไปดูกันเลยดีกว่าว่าตรรกะแต่ละอันนั้นจะดูป่วยและชวนปวดตับแค่ไหน
1. ละทิ้งข้อยกเว้น (Fallacy of Accident)
นี่จัดว่าเป็นตรรกะวิบัติที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด และดูออกได้ง่ายที่สุดด้วย ลักษณะของตรรกะวิบัติตัวนี้จะคล้ายๆ กับการสรุปรวมแบบไม่ดูเหตุดูผล จะเห็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนได้จากดราม่าเกมเถื่อนที่มักจะเกิดเป็นประเด็นอยู่บ่อยๆ ระหว่างที่ฝั่งคนเล่นเกมแท้และเหล่าผู้เล่นเกมเถื่อนกำลังต่อสู้กันอย่างดุเดือดอยู่นั่นเอง จู่ๆ ก็ได้มีประชาชนตาดำๆ คนหนึ่งจากฝั่งผู้เล่นเกมเถื่อนถามขึ้นมาว่า “แล้วฝั่งนั้นล่ะ ก็ยังใช้ Windows เถื่อนกันอยู่ไม่ใช่รึไง ถ้างั้นก็อย่ามาพูดเลยจะดีกว่า”
ประโยคสีแดงข้างบนนี่แหละค่ะที่ถือเป็นตัวอย่างของตรรกะวิบัติในข้อนี้ เพราะเท่ากับเป็นการสรุปโดยกลายๆ ว่า “หากการเล่นเกมเถื่อนเป็นเรื่องผิด การใช้ Windows เถื่อนซึ่งเป็นของเถื่อนเหมือนกันก็ถือว่าผิดเช่นกัน…” ทว่าอันที่จริงแล้ว เรื่องทั้งสองไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกันเลยสักนิด จึงเป็นไปได้กับการที่ฝั่งเกมเถื่อนพูดแบบนี้ออกมา ก็เพื่อจะป้ายความผิดให้ฝั่งผู้เล่นเกมแท้บ้าง ตนจะได้ไม่ต้องเป็นผู้รับเคราะห์โดนด่าอยู่ฝ่ายเดียวนั่นเอง…
2. ขอความเห็นใจ (Appeal to Pity Fallacy)
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตรรกะวิบัติที่นับว่าพบเห็นได้บ่อยมากในวงการเกม (โดยเฉพาะเรื่องของการเล่นเกมเถื่อน…อีกแล้ว) การขอความเห็นใจนี้เป็นการยกเหตุผลที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกสงสาร เห็นอกเห็นใจ แทนที่จะมานั่งถกกันด้วยหลักเหตุผลที่พิสูจน์ได้ตรงๆ
ตรรกะนี้จะพบเห็นได้บ่อยในหมู่ผู้เล่นเกมเถื่อนที่ยังคงเป็นวัยเรียนอยู่ คนกลุ่มนี้มักจะอ้างอยู่เสมอเวลาถูกโจมตีเรื่องเล่นเกมเถื่อนว่า “ก็ผมไม่มีตังค์นี่ครับ แต่อยากเล่นเกมนี้นี่นา จะให้ทำยังไงได้ล่ะ” หรือแม้กระทั่งในกลุ่มคนทำงานที่มักจะอ้างว่าเกมสมัยนี้มันแพงจนเกินเหตุ ทำให้พวกตนที่มีฐานะทางการเงินไม่แข็งแรงดีต้องอดเล่นของแท้ไปตามๆ กัน
เหตุผลเหล่านี้อาจเป็นเหตุผลที่ฟังดูน่าเห็นอกเห็นใจสำหรับคอเกมด้วยกันเอง เชื่อกันว่าเกมเมอร์หลายคนคงเข้าใจความรู้สึกยามที่ไม่ได้เล่นเกมที่ตัวเองอยากเล่นดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว การจะสนับสนุนเกมแท้ในสมัยนี้นั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย เพราะนอกจากจะสามารถอดออมเงินได้แล้ว เหล่าผู้ผลิตเกมใจดีหลายรายยังชอบจัดโปรโมชั่นลดราคาพิเศษเอาใจผู้เล่นกระเป๋าเบากันอยู่บ่อยๆ กลายเป็นว่าคนที่ซื้อเกมแท้ราคาเต็มอาจจะได้ประสบกับปัญหา ”หลังหัก” กันด้วยซ้ำ และอีกประเด็นที่ควรตระหนักคือ เกมคือวรรณกรรมหรือศิลปะที่ล้วนมีต้นทุนจากความคิดสร้างสรรค์โดยทีมพัฒนา ที่สำคัญกว่านั้น มันคือของซื้อของขายค่ะ เราไม่ควรอ้างการไม่มีเงินหรือความยากจนไปใช้ในการขโมยผลงานเขามาเสพ
การช่วยเหลือและเห็นอกเห็นใจที่อื่นอาจฟังดูเป็นเรื่องที่ดีนะคะ แต่ยังไงก็อย่าลืมคิดถึงความสมเหตุสมผลและความถูกต้องยุติธรรมกันด้วยล่ะ
3. โจมตีตัวบุคคล (Argumentum ad Hominem Fallacy)
ตรรกะโจมตีตัวบุคคลนี้ ว่ากันว่าเป็นตรรกะที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดในโลกไซเบอร์เลยทีเดียว ลักษณะของตรรกะวิบัติในข้อนี้ก็คือ การหยิบยกเรื่องราวส่วนตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาด่าปาวๆ โดยไม่สนใจเนื้อหาที่กำลังถกเถียงกันอยู่เลยแม้แต่น้อย จะว่าไปแล้วก็คล้ายกับการขุดคุ้ยประวัติส่วนตัวของใครสักคนขึ้นมาประจานและโจมตีอย่างที่เรามักพบตามเว็บบอร์ดต่างๆ นั่นล่ะ
ตัวอย่างที่ดีของตรรกะวิบัติในข้อนี้ก็หนีไม่พ้นดราม่าเกมเถื่อนอีกเช่นเคย เจ้าตรรกะวิบัติตัวนี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีฝั่งใดฝั่งหนึ่งเริ่มโจมตีอีกฝั่งด้วยประโยคเช่น “เฮ้! Username นายมันคุ้นๆ นะ เหมือนเคยเห็นอยู่ที่เว็บแจกเกมเถื่อนนี่ แบบนี้แปลว่านายก็เล่นเกมเถื่อนด้วย เพราะงั้นไม่มีสิทธิมาว่าพวกตูที่เล่นเถื่อนนะเฟ้ย!!” หรือแม้แต่ประโยคที่กล่าวหาว่าอีกฝ่ายใช้ Windows เถื่อนเองก็เข้าข่ายโจมตีตัวบุคคลด้วยเช่นกัน…
ดังนั้นแล้ว แม้ว่าอีกฝ่ายจะเป็นเกรียนที่น่าสั่งสอนให้รู้สำนึกแค่ไหนก็ตาม เราก็ควรจะคอยระวัง แยกแยะประเด็นของเรื่องที่กำลังถกให้ออก มิฉะนั้นแล้ว… คุณอาจจะกลายเป็นคนที่ใช้ตรรกะวิบัติเองก็ได้นะคะ
4. อ้างคนหมู่มาก (Argumentum ad Populum Fallacy)
ขอเรียกอีกอย่างว่า “ตรรกะพวกมากลากไป” แค่ชื่อตรรกะก็สื่อความหมายตรงๆ แล้วว่า เป็นตรรกะวิบัติที่อ้างคนส่วนมากเข้าว่า ไม่ว่าเหตุผลดังกล่าวจะเป็นเหตุผลที่แถสีข้างถลอกเจ็บแปล๊บๆ ก็ตาม ตัวอย่างเช่น “เกมเถื่อนน่ะ เดี๋ยวนี้ใครๆ เขาก็เล่นกัน” หรือ “ติดเกมผิดตรงไหน คนไทยเดี๋ยวนี้เล่นเกมกันเยอะจะตายไป”
จริงอยู่ที่ว่าการเคารพความเห็นผู้อื่นเป็นเรื่องที่ดี และความเห็นฝั่งเสียงข้างมากก็มักจะฟังดูแข็งแรงกว่า แต่ใช่ว่ามันจะถูกต้องเสมอไปเสียเมื่อไหร่… ยังไงก็ระวังกันไว้ดีกว่า อย่าอ้างเสียงข้างมากพร่ำเพรื่อ ไม่อย่างนั้นเรื่องที่ถกอยู่อาจจะดราม่าหนักกว่าที่คิดก็เป็นได้…
5. วางก้าม (Argumentum ad Baculum Fallacy)
“ผมเป็นเพื่อนกับเว็บมาสเตอร์ ถ้าเถียงนักระวังโดนแบนไม่รู้ตัวนะ”
“คอมผมแรงขนาดนี้ แถมมีเกมแท้ตั้งเป็นร้อยเกม ตอนนี้ผมทำงานมีเงินเดือนเป็นแสนๆ เพราะงั้นจะบอกว่าผมเป็นพวกเกรียนโง่ๆ ไม่ได้นะ!”
"คุณจะมารู้ดีกว่าผมได้ยังไง ผมมีเกมเยอะนะ เล่นเกมมาเยอะกว่าคุณด้วย” (พร้อมโพสต์รูปเกมนับร้อยตลับที่ก็ไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เถียงกันตรงไหน)
เรามักจะพบเห็นข้อความเหล่านี้ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดอยู่เรื่อยๆ เมื่อมีฝ่ายหนึ่งไม่สามารถหาเหตุผลมาเอาชนะได้ หนทางสุดท้ายก็คือการอ้างอำนาจขึ้นมาข่มให้ฝั่งตรงข้ามรู้สึกกลัว แม้ผู้พูดจะมีอำนาจที่ว่าอยู่จริงหรือไม่ก็ตาม… อ้าว แบบนี้ใครๆ ก็กุเรื่องขึ้นมาโชว์พาวก็ได้สิ นี่มันยกตนขึ้นข่มชัดๆ
(รูปด้านล่าง) คนซ้าย: ผู้คนตายเพราะมะเร็งตั้งแต่ก่อนที่โลกนี้จะมีบุหรี่ซะอีก ดังนั้นการสูบบุหรี่ไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็งเฟ้ย!
6. เหมารวม (Fallacy of Relative to Absolute)
ปิดท้ายบทความในหน้านี้ด้วยตรรกะที่ถูกใช้กันเกลื่อนกลาดทั้งฝั่งผู้รู้ ผู้ใหญ่ เด็กเรียน เด็กเกรียน ตรรกะนี้เป็นการสรุปความเอาตามทัศนคติของผู้พูดที่อาจไปเจอเหตุการณ์อะไรบางอย่างมาก่อน และมักจะสรุปว่าเหตุการณ์นั้นเป็นเหมือนตัวแทน หรือเป็นภาพรวมของความจริงทั้งหมดไปเลย… อธิบายแบบนี้ออกจะเข้าใจยากอยู่ซักหน่อย ลองมาดูตัวอย่างกันแทนดีกว่า
“เว็บบอร์ดนี้มักจะมีแต่คนเข้ามาโหลดเกมเถื่อน มันต้องเป็นเว็บสำหรับแจกเกมเถื่อนแน่ๆ เลย”
“ค่ายนี้ออกเกมมากี่เกมก็มีแต่ห่วยๆ เกมใหม่นี่ก็ไม่ต้องไปเสียเวลาเล่นหรอก ห่วยเหมือนกันนั่นแหละ”
หรือแม้กระทั่งในหน้าหนังสือพิมพ์เองก็มีให้เห็นเช่นกัน…
“เด็กที่ติดเกมที่ผมเคยเจอมีแต่เด็กแย่ๆ ทั้งนั้น ถ้าเห็นเด็กที่เล่นเกม ฟันธงได้เลยว่าเป็นพวกเกรียนทุกคน นี่มันปัญหาสังคมชัดๆ!”
“เฮ้! นี่มันข่าวเด็กเล่นเกม GTA แล้วเลียนแบบพฤติกรรมในเกมนี่! การเล่นเกมนี่มันทำให้เด็กมีพฤติกรรมรุนแรงขึ้นจริงๆ”
แม้บางเหตุผลอาจจะฟังดูสมเหตุสมผลไปบ้างในบางที… แต่อย่าลืมนะคะว่าในความเลวร้ายเหล่านั้น อาจจะยังมีสิ่งที่ดีแฝงตัวอยู่ก็ได้ อย่าเพิ่งด่วนตัดสินอะไรไปจะดีกว่า
ยกตัวอย่างมาขนาดนี้แล้ว ทว่าในความเป็นจริง ตรรกะวิบัตินั้นยังมีรูปแบบอยู่อีกมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งถ้าหากจะเขียนทั้งหมดคงต้องขอพื้นที่เป็นอีกเว็บไปเลยทีเดียว… อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นตรรกะวิบัติรูปแบบไหน ก็ย่อมสร้างความปวดตับให้คนอ่านได้ไม่มากก็น้อย
บทความนี้จงไม่ขอหวังอะไรมากไปกว่าการขอให้ทุกท่าน โปรดจงดราม่าอย่างมีสติ… หรือทางที่ดี อย่าดราม่าเลยจะดีกว่าค่ะ